ปคบ.ลุยค้น 4 จุดทลายโรงงานผลิตยาแก้ไอปลอม

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 4 เม.ย. พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. พร้อมด้วย พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ. นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และเภสัชกร วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เภสัชกรหญิง.อรัญญา เทพพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป. นำกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 30 นาย เข้าตรวจค้นโกดังไม่มีเลขที่ ในพื้นที่ ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี หลังทราบว่าเป็นสถานที่ผลิตยาแก้ไอปลอมจำหน่ายสู่ท้องตลาดอย่างผิดกฎหมาย

จากการตรวจสอบพบว่าโกดังขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนเนื้อที่ราว 1 ไร่ ภายในโกดังมีการดัดแปลงใช้เป็นสถานที่ผลิตยา มีเครื่องจักรตั้งวางเรียงรายเต็มโกดัง มีคนงานชาวต่างด้าวและคนไทยบางส่วนกว่า 30 คน นั่งคุมเครื่องจักรที่กำลังทำงานในไลน์การผลิตอย่างขะมักเขม้น เริ่มตั้งแต่การบรรจุน้ำยาแก้ไอลงขวด ปิดฝาบรรจุภัณฑ์ ติดฉลากข้างขวด ก่อนแพคลงกล่อง กล่องละ 50 ขวด ทางเจ้าที่จึงควบคุมตัวคนงานทั้งหมดไว้สอบปากคำหาผู้ที่เกี่ยวข้อง

พล.ต.ต.วิทยา กล่าวว่า ในวันนี้ทางปคบ.ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการอาหารและยา ( อย. ) เข้าจับกุมยาแก้ไอปลอม ซึ่งยาแก้ไอเหล่านี้จะถูกวัยรุ่นนำไปผสมกับตัวยาอื่นๆ เพื่อทำให้เกิดการมึนเมา ทาง ปคบ. ได้มีการสืบสวนหาข่าวจนทราบแหล่งผลิต แหล่งเก็บสินค้ารวม 4 จุด 3 จุดแรก ที่อยู่ในพื้นที่ ต.บ่อเงิน ต.หน้าไม้ และ ต.ลาดหลุมแก้ว อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เป็นแหล่งผลิตน้ำยาแก้ไอ และโกดังที่เก็บวัสดุอุปกรณ์ ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการติดตามรถขนฉลาก และขวดรวมถึงตัวยาที่ผสมเสร็จแล้ว จนมาพบแหล่งที่บรรจุแห่งนี้ ซึ่งขณะเข้าตรวจค้นพบแรงงานต่างด้าวกำลังทำงานอยู่จึงแสดงตัว ขอตรวจค้น พบของกลางเป็นยาแก้ไอชีน้ำยี่ห้อ DATISSIN ( ดาทิสซิน ) จำนวนกว่า 50,000 ขวด เครื่องจักรในการผลิตจำนวน 5 เครื่อง มูลค่ารวมกว่า 5 ล้านบาท

ซึ่งในการตรวจค้นครั้งนี้พบว่ามีความเชื่อมโยงกันทั้งหมดแต่อยู่ระหว่างการตรวจสอบไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในเบื้องต้นยังไม่พบต่างชาติเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการตั้งโรงงานแห่งนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการขยายผลหาผู้ที่เป็นเจ้าของ

ภญ.อรัญญา กล่าวว่า ทาง บก.ปคบ. ได้ทำการสืบสวนขยายผลจนมาพบแหล่งผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นการนำยาน้ำมาแบ่งบรรจุ และติดสติกเกอร์ฉลากที่นี่ เมื่อมาดูในส่วนของสลากพบว่าผลิตภัณฑ์ล็อตนี้ได้มีการนำฉลากที่เป็นของล็อตเก่าซึ่งมีการรายงานการผลิตมายัง อย. ประมาณ 3 หมื่นขวด ซึ่งขายไปแล้วตั้งแต่เดือน สิงหาคม ปี 66 ซึ่งปัจจุบันตัวผลิตภัณฑ์ตัวนี้ของบริษัทได้มีการเปลี่ยนฉลากไปแล้ว

จึงฝากเตือนประชาชน การที่จะสั่งซื้อยาผ่านทางออนไลน์ท่านอาจจะมีความเสี่ยงของการได้รับยาปลอม ซึ่งอาจจะไม่มีคุณสมบัติในการรักษาโรคและอาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคไปด้วย หลังจากนี้จะมีการนำตัวอย่างยาไปตรวจสอบ วิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่าในส่วนประกอบใส่อะไรไปบ้างแต่เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบตัวยาสำคัญบ้างแต่ไม่ตรงตามสูตรที่ระบุในฉลาก ซึ่งในวันนี้พบการกระทำความผิดในเรื่องของการผลิตยาปลอมและผลิตยาโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงการตรวจสถานที่แห่งนี้

เบื้องต้น ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐาน ที่จะเป็นสถานที่ผลิตในการผลิตยา อย่างไรก็ทางเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างสืบสวนขยายผล เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

Advertisement