พ่อค้าส้มตำร้องกองปราบถูกหลอกข้อมูลส่วนตัว เอี่ยวแก๊งหลอกกู้แอพออนไลน์

 

          เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 8 ก.ย.64 ที่ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) นายธีรศักดิ์ เพ็ชรรักษา อายุ 20 ปี อาชีพพ่อค้าส้มตำ พร้อมด้วยนายวรเทพ สุขแก้ว ทนายความ เดินทางเข้าพบ ร.ต.อ.วิทธวัช สาคะรินทร์ รอง สว.สอบสวน กก.2.บก.ป. เพื่อแจ้งความร้องทุกข์ถูกขบวนการเว็บพนันออนไลน์ หลอกขโมยข้อมูลส่วนตัวไปใช้หลอกเงินผู้เสียหาย จนตนเองต้องตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นหรืออยู่ร่วมในชบวนการดังกล่าว โดยนำเอกสารหลักฐานต่างๆมามอบให้พนักงานสอบสวนประกอบกสนพิจารณา
นายธีรศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวเคยไปสมัครเล่นเว็บเสี่ยงดวงออนไลน์ต่างๆ (สล็อต) และมีการสมัครจากเว็บที่อ้างว่าได้ฟรี 100 บาท และนำเงินดังกล่าวไปเล่นในเว็บหลายเว็บ ซึ่งมีครั้งหนึ่งเคยได้รางวัลจากการเล่นสล็อต จำนวน 10,000 บาท แต่ไม่ได้รับเงินจึงติดต่อไปที่ผู้ดูแลเว็บ ก่อนมีการเรียกขอเอกสาร บัตรประชาชน และหน้าสมุดบัญชี ด้วยความที่ตนเองขาดความรู้จึงส่งภาพถ่ายสำเนาบัตรประชาชนไปให้พร้อมหน้าสมุดบัญชี และเลขรหัสเข้าเว็บ ที่ตนเองใช้เป็นเลข 6 หลักแบบเดียวกับที่ใช้ในการเข้าแอพพลิเคชั่นธนาคารในโทรศัพท์ ก่อนจะเงียบหายไปแต่ก็ไม่ได้คิดอะไร จนกระทั่งเมื่อวันที่ 17 ส.ค. มีตำรวจจาก สน.บุปผาราม ติดต่อมาว่าตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหลอกโอนเงินจากขบวนการเงินกู้ผ่านแอพ ตนเองจึงเดินทางไปธนาคารเพื่อปิดการใช้งานแอพและอายัดบัญชี และเริ่มขั้นตอนการตรวจสอบทางธนาคาร แต่ก็ยังพบว่าขณะที่ทำการปิดการเชื่อมต่อแอพธนาคารกับบัญชี ก็ยังมีเงินไหลเข้าบัญชีอีกว่า 3 หมื่นบาท จึงได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ที่ สภ.บางน้ำเขียว ในจังหวัดนครราชสีมา
ด้านนายวรเทพกล่าวว่า ตัวนายธีรศักดิ์ มาทราบว่ามีการนำบัญชีไปใช้ในเชิงผิดกฏหมายเมื่อวันที่ 17 จึงมีการไปปิดบัญชี เมื่อตรวจสอบในรายละเอียดพบว่ามีการเริ่มใช้บัญชีตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. ช่วง 10.00 น. มาจนถึงช่วงบ่ายของวันที่ 17 ส.ค. เฉพาะเพียงแค่1-2วันมีการทำธุรกรรมกว่า 611 ครั้ง ยอดเงินรวมกว่า 2 ล้านบาท โดยจะมีการรับโอนเงินมาและมีการโอนออกไปบัญชีปลายทางอีกบัญชีหนึ่งทันที เมื่อตรวจสอบพบว่ามีบัญชีปลายทางที่รับโอนเงินจาก บัญชีลูกความตนเอง 3-4 ราย จึงอยากให้กองปราบช่วยตรวจสอบและติดตามคนทำผิดมาดำเนินคดี เพราะตอนนี้ลูกความตนเอง ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา จากกลุ่มผู้เสียหายทั้งๆที่ลูกความตนเองก็เป็นผู้เสียหายเช่นกัน
และอยากประชาสัมพันธ์ ให้ผู้เสียหายที่ถูกหลอกมารวมตัวแจ้งความที่กองปราบ เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินการทางคดี
นายวรเทพยังกล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบพบว่าแอพหลอกให้กู้เงินจะใช้วิธีสร้างตัวตนให้น่าเชื่อถือ มีการแสดงหลักฐานใบอนุญาตจดบริษัทจากหน่วยงานรัฐ ก่อนจะหลอกให้เหยื่อที่ต้องการกู้เงิน มาทำธุรกรรม ซึ่งเมื่อเหยื่อติดต่อขอกู้ ทางแอพจะให้เลือก วงเงินกู้ก่อนจะแจ้งว่าผู้กู้ต้องโอนเงินจำนวน 15 % ของยอดที่ขอกู้เพื่อใช้ในการยืนยันตัวบุคคล โดยเงินจำนวนนี้ จะถูกหลอกให้โอนมาที่บัญชีลูกความตนเอง ก่อนย้ายไปบัญชีอื่น ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่ามีเหยื่อคล้ายลูกความตนเอง อีกจำนวนมาก เพราะดูจากวิธีการของขบวนการนี้มีการทำกันเป็นขบวนการ และรวดเร็วเพราะของลูกความตนเองแค่ไม่เกิน 48 ชั่วโมงยังมีเงินหมุนเข้าออกกว่า 2 ล้านบาท
เบื้องต้นทางพนักงานสอบสวนได้มำการสอบปากคำผู้เสีบหายก่อนประสานส่งเรื่องต่อไปยัง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี (บก.ปอศ.) หน้างานโดยตรงตรวจสอบต่อไป
Advertisement