ร้องดีเอสไอเอาผิดคณะกรรมการคัดเลือกพิรุธแก้ประมูลรถไฟฟ้าสีส้ม ด้านอธิบดีดีเอสไอบอกรวบรวมข้อมูลตรวจสอบศรีพันวา เตรียมลงพื้นที่จริงอาทิตย์นี้

             วันที่ 28 กันยายน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายศรีสุวรรณ จรรยาเดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมฯ เพื่อเอาผิดคณะกรรมการคัดเลือกตาม ม.36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หลังพบพิรุธเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเอกสารประกวดราคาใหม่ (TOR) ในการประมูลและผู้ที่เกี่ยวข้อง
             นายศรีสุวรรณ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกตาม ม.36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 128,128 ล้านบาท ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเอกสารประกวดราคาใหม่ (TOR) หลังมีการซื้อขายซองประกวดราคาเสร็จสิ้นแล้วทั้งหมด 10 บริษัท โดยพบข้อพิรุธหลายประการ อาทิ มีบริษัทเอกชนรายหนึ่งซึ่งยื่นซองประมูลได้ข้อเปลี่ยนแปลง TOR และคณะกรรมการฯ รับข้อเสนอจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขดังกล่าว หรือเงื่อนไข TOR ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเองได้ ต้องเป็นไปตามระเบียบทางราชการ พร้อมรับฟังความเห็นต่างๆ ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และต้องยื่น ครม.มีมติเห็นชอบ โดยต้องถือประโยชน์ของรัฐมากที่สุดเป็นต้น
             นายศรีสุวรรณ เผยอีกว่า ที่ผ่านมาการพิจารณาจะแยกซองเทคนิคหากผ่านตามเกณฑ์ จึงจะเปิดซองการเงินตามลำดับ แต่การประกวดครั้งนี้กลับนำซองเทคนิคมาคิดคะแนนรวมกับซองการเงิน โดยกำหนดสัดส่วนการให้คะแนน 30/70 หากรายใดได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะได้รับการคัดเลือกและขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการฯ ซึ่งอาจมีการทุจริตเกิดขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
              อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้สำคัญมากต่อการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ จึงนำหลักฐานๆ มามอบให้ ดีเอสไอตรวจสอบ เพราะเกี่ยวข้องกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อาจเข้าข่ายร่วมฮั้วประมูลด้วย ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลง TOR ใหม่หลังจากที่มีการขายซองประกวดราคาไปแล้วนั้น ถือได้ว่าเป็นการขัดต่อมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อ 28 มกราคม และยังขัดต่อการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ ตาม ม.6(3) และ ม.32 ของ พรบ.ร่วมทุนฯ 2562 ประกอบกับข้อ 8(4) ของคณะกรรมการนโยบายร่วมทุนฯ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน 2563
            ด้าน พ.ต.ท.กรวัชร์ ระบุว่า จะนำเรื่องไปตรวจสอบว่าเข้าข่ายตามกฎหมายพิเศษของดีเอสไอหรือไม่ ซึ่งจะต้องตรวจสอบเอกสารทั้งหมดก่อน ทั้งนี้ทางอธิบดียังพูดถึงกรณีการตรวจสอบที่ดินของศรีพันวา ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล ซึ่งในสัปดาห์นี้จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบ รวมถึงภาพถ่ายทางอากาศก็จะตรวบสอบตามปี 2510 ที่ปรากฎตามช่วงเวลาต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบการใช้ประโยชน์ของที่ดิน
Advertisement