ปล่อยตัวชั่วคราว “รุ้ง ปนัสยา” ชี้ ปฏิบัติตัวตามเงื่อนไข

          เมื่อวันที่ 13 ม.ค.65 ที่ ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งขอปล่อยชั่วคราว ในคดีหมายเลขดำ อ.287/2564 ของ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่มราษฎร จำเลยที่ 5 คดีชุมนุมปักหมุด ที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 ต่อหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการประกันตัวจนครบกำหนดแล้วเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา
โดยช่วงเช้าวันนี้ พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 โจทก์ น.ส.ปนัสยา-หรือ รุ้ง จำเลยที่ 5 และ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน บิดาและมารดา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางมาฟังคำสั่งศาล

ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า กรณีสืบเนื่องมาจากที่ศาลได้เคยมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอย่างจำกัด ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.2564 จนถึงวันที่ 12 ม.ค.2564 โดยวางเงื่อนไขต่างๆให้จำเลยที่ 5 ปฏิบัติในระหว่างการปล่อยชั่วคราวดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 5 ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยไม่ปรากฏว่าได้ประพฤติผิดเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราวแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 5 ขอให้ปล่อยชั่วคราว ต่อเนื่องไปก็เพื่อที่จะทำการเรียนและสอบให้สำเร็จการศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ของปี 4 ซึ่งจะต้องมีการทำการวิจัยส่วนบุคคลเพื่อจบการศึกษา ต้องใช้เวลาในการค้นคว้าและเก็บข้อมูลภาคสนามและทำรายงาน จำเลย มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขตามที่ศาลกำหนดทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะไม่ทำกิจกรรมทางการเมืองที่มีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เข้าร่วมการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ไม่ออกนอกราชอาณาจักร ตลอดจนถึงเงื่อนไขอื่นๆ ที่ศาลจะกำหนด มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา รับจะกำกับดูแลให้จำเลย ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ศาลเห็นว่า จำเลยที่ 5 ซึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างจำกัด ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโดยเคร่งครัด ไม่ประพฤติผิดเงื่อนไขใดๆ ตามที่ศาลกำหนดไว้ กรณีจึงไม่ปรากฎพฤติการณ์ในอันที่จะทำให้น่าเชื่อว่า จำเลยจะหลบหนีหรือจะไปก่อภยันอันตรายอื่นในช่วงเวลานี้แต่อย่างใด ประกอบกับจำเลย มีความตั้งใจที่จะไปปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนให้สำเร็จการศึกษาตามคำรับรองของอาจารย์ผู้ดูแล จึงเห็นควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย ในระยะเวลาจำกัดต่อไป นับแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 16 มิ.ย.2565 โดยมีประกันในวงเงิน 600,000 บาท และกำหนดเงื่อนไข ห้ามจำเลยที่ 5 ทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ที่อาจกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน ,ห้ามเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ,ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และให้ตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญเลิศ เป็นผู้กำกับดูแล ให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยเคร่งครัด ,ให้จำเลย มารายงานตัวทุก 30 วัน ในระหว่างการปล่อยชั่วคราวอันจำกัดนี้ และให้จำเลย มารายงานตัวและส่งตัวภายในวันที่ 16 มิ.ย.2565 เวลา 10.00 น. คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ภายหลังฟังคำสั่งศาล นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ กล่าวว่า ศาลก็อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวตามเงื่อนไขเดิม จะมีการนัดส่งตัวอีกครั้งในวันที่ 16 มิ.ย.65 เนื่องจาก รุ้ง ปนัสยา ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดให้ไปศึกษาต่อจนจบภาคการศึกษานี้ ตอนนี้จะมีเงื่อนไขแค่การไม่ไปกระทำการใดๆให้เสื่อมเสียต่อสถาบัน และผิดกฎหมาย ผิดต่อศาล จะไม่ไปร่วมการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายที่ผิดกฎหมาย และจะไม่ออกนอกราชอาณาจักรจนกว่าจะได้รับอนุญาต โดยยกเลิกการใส่กำไลอีเอ็ม รวมทั้งกำหนดเวลาห้ามออกจากเคหสถาน

ทั้งนี้เงื่อนไขดังกล่าวไม่ได้ห้ามการไปชุมนุม เงื่อนไขที่ศาลกำหนดออกมา เป็นการห้ามในกรณีที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย โดยศาลได้ยืนยันว่า การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายรัฐธรรมนูญรับรองไว้ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความวุ่นวาย คงเป็นรายละเอียดที่จะต้องระมัดระวังตัว เพราะในขณะนี้ก็มีหลายฝ่ายที่เขาอาจจะมีความประสงค์ให้ น.ส.ปนัสยา ไม่ได้รับการประกันตัว อาจจะใช้คำสั่งศาลมาเป็นข้ออ้าง
นายกฎษฎางค์ กล่าวอีกว่า เดิมที่ศาลอาญากำหนดเงื่อนไข 4 ข้อ แต่คราวนี้กำหนดเงื่อนไข 3 ข้อ ส่วนข้อกำหนดที่หายไป 1 ข้อ คือห้ามออกนอกเคหะสถานและให้ใส่กำไลอีเอ็ม ดังนั้นเมื่อศาลอาญาไม่ได้กำหนดในส่วนนี้ เท่ากับว่า รุ้งไม่ต้องติดกำไลอีเอ็มและสามารถออกนอกเคหสถานได้ซึ่งข้อนี้ตนได้สอบถามศาลแล้ว แต่ยังไม่สามารถถอดตอนนี้ได้ เพราะยังติดคำสั่งของศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่สั่งให้ติดกำไลอีเอ็มในคดีครอปท็อปอีกคดี
นายกฤษฎางค์ ยังกล่าวถึง คำสั่งศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่เปลี่ยนเงื่อนไขเป็นห้ามออกนอกเคหะสถานเฉพาะเวลา 18.00-06.00 น. ว่าอาจจะต้องปรึกษาหารือกัน เพราะเป็นคนละคดีกัน

ด้านรุ้ง น.ส.ปนัสยา เผยว่า พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ต้องอยู่ที่บ้าน 24 ชั่วโมง แต่เงื่อนไขที่เพิ่มขึ้นมาคือ ห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน ขอให้ประชาชนและสื่อมวลชนตั้งข้อสังเกตกับเงื่อนไขดังกล่าว และมองว่าเงื่อนไขที่ถูกตั้งขึ้นมา ไม่ต้องมีก็ได้ จะให้ประกันตัวแบบไม่มีเงื่อนไขก็ได้ เงื่อนไขที่ตั้งขึ้นมาทุกท่านน่าจะทราบกันดีว่า เป็นเงื่อนไขที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของตน

“นักโทษทางการเมืองหรือใครก็ตาม ทุกคนควรจะได้รับสิทธิในการประกันตัว โดยเฉพาะผู้ที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ อย่างเรา หรืออย่างเบนจา หรือเพนกวินเอง ที่ต้องลงทะเบียนเรียน พวกเขาไม่ได้มีโอกาสที่จะได้เล่าเรียนต่อ แต่ก็คาดหวังว่าเพื่อนเราจะได้ออกมากันในเร็ว ๆ นี้ ได้ออกกลับมาเรียนหนังสือ” น.ส.ปนัสยา กล่าว
Advertisement