ปคบ.ร่วมกับ อย.ทลายโรงงานผลิตลูกชิ้นเถื่อน ส่งทั่ว กทม.และปริมณฑล กว่า 41 แห่ง ช็อคเพิ่งส่งโรงเรียนนานาชาติ

        เมื่อวันที่ 17 ก.พ. พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ.ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นำกำลังพร้อมหมายค้นเข้าตรวจสอบโรงงานลูกชิ้นหมูยี่ห้อ “จ๊ะเอ๋” ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 2 ต.คลอง 4 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

พล.ต.ต.อนันต์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่สืบทราบว่าโรงงานดังกล่าวลักลอบผลิตลูกชิ้นหมูไม่ถูกสุขลักษณะ จากการตรวจค้นพบว่าเป็นโกดังเก่าดัดแปลงเป็นโรงงานผลิตลูกชิ้น พบนายสัมฤทธิ์ (สงวนนามสกุล) แสดงตนเป็นเจ้าของกิจการ เจ้าหน้าที่จึงได้ตรวจยึดของกลางผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นบรรจุถุง กว่า 30 ถุง, เนื้อไก่และเนื้อหมูสดที่ใช้เป็นวัตถุดิบ, Sodium benzoate (วัตถุกันเสีย) จำนวน 12 กิโลกรัม, บรรจุภัณฑ์และส่วนผสมต่างๆ ที่เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 กว่า 20 รายการ จากนั้นได้สั่งปิดโรงงานและอายัดผลิตภัณฑ์ลูกชิ้น,เนื้อสัตว์ที่กำลังแปรรูป, ส่วนผสมต่างๆ และเครื่องจักรในการผลิต อีก 3 รายการ

พล.ต.ต.อนันต์ กล่าวต่อว่า การตรวจค้นครั้งนี้ ยังพบอีกว่า กระบวนการผลิตลูกชิ้นหมูดังกล่าวขาดสุขลักษณะไม่ผ่านเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด โดยผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมูที่มีการโฆษณาว่าเป็นเนื้อหมูแท้นั้น เจ้าของโรงงานได้ลักลอบนำเนื้อไก่มาผสมเพื่อลดต้นทุน ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดได้และจากการตรวจสอบสถานที่ผลิตแห่งนี้ตามหลักเกณฑ์ GMP พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ และพบว่าโรงงานดังกล่าว ไม่มีการควบคุมการผลิตในกรณีที่มีการใช้วัตถุเจือปนอาหารอย่างเหมาะสม อีกทั้งขั้นตอนการผลิตไม่เข้าข่ายโรงงานตามกฏหมาย โดยจากการนำส่วนผสมที่พบในโรงงานมาตรวจสอบกับชุดทดสอบสารปนเปื้อนบอแรกซ์ในเบื้องต้น พบผลเป็นบวก สันนิษฐานว่าผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นที่ผลิตในโรงงานดังกล่าวอาจมีสารบอแรกซ์ปนเปื้อนอยู่ในลูกชิ้นที่ส่งขายให้กับผู้บริโภค

สอบสวน นายสัมฤทธ์ รับสารภาพว่า ได้ส่งลูกชิ้นให้ลูกค้าตามตลาดสดในพื้นที่ กทม. ปทุมธานี, นนทบุรีและ
สมุทรปราการ กว่า 41 แห่ง ทำมาแล้ว 2 ปี ขายได้วันละ 300-800 กิโลกรัม

อย่างไรก็ตามล่าสุดทราบว่าได้ส่งลูกชิ้นไปยัง รร.นานาชาติแห่งหนึ่ง ในจังหวัดปทุมธานี จำนวน 65 กิโลกรัม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เร่งประสานไปยังโรงเรียนดังกล่าวให้งดการนำลูกชิ้นหมูดังกล่าวมาประกอบอาหาร
ให้กับเด็กนักเรียนแล้ว

เบื้องต้นแจ้งข้อหา “ผลิตอาหารปลอม, ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหาร โดยสถานที่ผลิตอาหารไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี (GMP) และ ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างลูกชิ้นส่งตรวจวิเคราะห์กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบสารต้องห้ามในอาหารเพิ่มเติม จะแจ้งข้อหา “ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” อีกคดี

 

 

Advertisement