แอมเนสตี้เปิดสถิติโทษประหารปี 63 ลดต่ำสุดในรอบ 10 ปี จีนรั้งอันดับ 1 ส่วนไทยแม้ไม่มีการประหารมา 2 ปีติด แต่ยังคงโทษไว้

         เมื่อวันที่ 21 เมษายน 64 ทางแอมเนสตี้เปิดข้อมูลโทษประหารปี 2563 แม้มีการระบาดของโรคโควิด-19 หลายประเทศยังคงเดินหน้าตัดสินโทษประหารชีวิตและทำการประหารชีวิต
         โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแถลงรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2563 พบว่า ปัญหาท้าทายที่ไม่คาดคิดของโรคโควิด-19 ยังไม่รุนแรงพอที่จะขัดขวาง 18 ประเทศจากการประหารชีวิต ในปี 2563 แม้แนวโน้มโดยรวมจะลดลง แต่บางประเทศยังคงประหารชีวิตเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นการไม่คำนึงถึงชีวิตมนุษย์ ในขณะที่ทั้งโลกให้ความสนใจกับการปกป้องผู้คนจากเชื้อไวรัสที่ร้ายแรง
         แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ได้บันทึกการประหารชีวิตในปี 2563 พบว่า มีการประหารชีวิตใน 18 ประเทศอย่างน้อย 483 ครั้ง ลดลงจากปี 2562 ที่มีการประหารชีวิต 657 ครั้ง โดยยอดการประหารชีวิตในปี 2563 ถือว่าต่ำที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมาตามตัวเลขที่แอมเนสตี้ได้บันทึกไว้
         การประหารชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศจีน อิหร่าน อิรัก อียิปต์ และซาอุดีอาระเบีย ตามลำดับ
จีนยังคงเป็นประเทศที่มีการประหารชีวิตมากที่สุดในโลก แต่ตัวเลขที่แท้จริงยังไม่เป็นที่แน่ชัด เนื่องจากทางการจีนถือว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับทางราชการ ในขณะตัวเลขการประหารชีวิตทั่วโลกอยู่ที่ 483 ครั้ง โดยไม่นับการประหารชีวิตอีกหลายพันครั้งที่เชื่อว่าเกิดขึ้นในประเทศจีน
         นอกจากประเทศจีนแล้ว 88% ของการประหารชีวิตทั่วโลกเกิดขึ้นในประเทศอิหร่าน อียิปต์ อิรัก และซาอุดีอาระเบีย
          ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศที่มีการประหารชีวิตในปี 2563 ได้แก่ อียิปต์ ที่มีตัวเลขการประหารชีวิตต่อปีเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่จีนประกาศปราบปรามการกระทำความผิดที่กระทบต่อมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีผู้ถูกตัดสินประหารชีวิตและถูกประหารชีวิตแล้วอย่างน้อยหนึ่งราย ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลทรัมป์ได้รื้อฟื้นการประหารชีวิตของรัฐบาลกลาง หลังงดเว้นมานานถึง 17 ปี ทำให้มีการประหารชาย 10 คนในเวลาเพียงไม่ถึงหกเดือน ส่วนอินเดีย โอมาน กาตาร์ และไต้หวันได้นำการประหารชีวิตกลับมาใช้อีกครั้งเช่นกัน
        แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ในขณะที่ทั้งโลกกำลังค้นหาวิธีการปกป้องชีวิตผู้คนจากโรคโควิด-19 รัฐบาลหลายประเทศกลับแสดงความมุ่งมั่นที่จะใช้โทษประหารชีวิตและประหารประชาชน โดยไม่คำนึงถึงสิ่งอื่นใด
         โทษประหารชีวิตเป็นการลงโทษที่น่ารังเกียจ และการมุ่งประหารชีวิตประชาชนท่ามกลางการระบาดของโรค ยิ่งเน้นให้เห็นธรรมชาติที่ทารุณโหดร้าย การต่อสู้เพื่อคัดค้านการประหารชีวิต เป็นเรื่องที่ยากลำบากแม้อยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม การระบาดของโรคส่งผลให้นักโทษประหารชีวิตจำนวนมาก ไม่สามารถเข้าถึงทนายความแบบตัวต่อตัวได้ ส่วนผู้คนจำนวนมากที่ต้องการให้การสนับสนุนพวกเขา ต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างมาก
         แม้จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ก็ตาม การใช้โทษประหารชีวิตในสภาพการณ์เช่นนี้ จึงถือเป็นการโจมตีสิทธิมนุษยชนอย่างเลวร้าย
         มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบที่น่ากังวล ในแง่ของการเข้าถึงทนายความ และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมในหลายประเทศ รวมทั้งในสหรัฐฯ ซึ่งทนายจำเลยระบุว่าไม่สามารถทำหน้าที่สอบปากคำที่สำคัญ หรือไม่สามารถเข้าพบลูกความของพวกเขาได้แบบตัวต่อตัว
          ภายในสิ้นปี 2563 มี 108 ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกกรณี รวมเป็น 144 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติแล้ว
        สำหรับประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท ส่วนลาว พม่า และบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่
        สำหรับประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 55 ประเทศทั่วโลกที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิต ในขณะที่แนวโน้มทั่วโลกมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต ในปี 2563 มีบันทึกการตัดสินประหารชีวิตอย่างน้อย 35 ครั้ง และจากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ณ วันที่ 23 มีนาคม 2564 มีนักโทษประหารชีวิตอยู่กว่า 254 คน โดยกว่าครึ่งเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อย่างไรก็ตามเป็นปีที่สองติดต่อกันที่ไม่มีการประหารชีวิตในประเทศไทย
         แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำความผิดหรือผู้บริสุทธิ์ หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตและเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม

Advertisement