เมื่อวันที่ 5 ม.ค.65 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สอบถามความเห็นกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารริมทาง หรือ ร้านอาหารขนาดเล็ก เกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์ เนื้อหมูราคาแพง และเนื้อหมูขาดตลาดในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การปรับราคาอาหารให้สูงขึ้นตามราคากลไกตลาดเนื้อหมู เพื่อลดการแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ทางออกของปัญหา เนื่องจากการปรับเพิ่มราคาอาหารย่อมส่งผลกระทบต่อยอดขายและปริมาณลูกค้าที่ลดลง วอนหน่วยงานภาครัฐเร่งแก้ไข
น.ส.จิราภรณ์ วงคง อายุ 20 ปี เจ้าของร้านข้าวขาหมูแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ร้านของตนได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาดังกล่าว เนื่องจากวัตถุดิบหลักที่ใช้ทำอาหารเกือบทั้งหมดคือ เนื้อหมู หรือ ขาหมู การที่เนื้อหมูมีราคาแพงขึ้นย่อมมีผลกระทบต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตามมา จนทำให้ต้องมีการปรับขึ้นราคาอาหาร จากเดิมที่เคยขาย ข้าวขาหมูปกติราคาจานละ 45 บาท เพิ่มเป็น 50 บาท ส่วนข้าวขาหมูพิเศษเดิมทีจานละ 50 บาท เพิ่มเป็น 60 บาท เพื่อลดการแบกรับภาระต้นทุน และแน่นอนว่าเมื่อมีการปรับราคาอาหารเพิ่มขึ้นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือปริมาณลูกค้าที่ลดลงเพราะลูกค้าหันไปรับประทานอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ชนิดอื่นแทน ซึ่งก็เข้าใจค่าครองชีพของผู้คนทั่วไปนับวันมีแต่เพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันรายรับกลับยังคงอยู่เท่าเดิม การที่ผู้คนจะเลือกประหยัดค่ากินอยู่จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ทั้งนี้เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวตนในฐานะผู้ค้าก็อยากให้หน่วยงานต่างๆของภาครัฐรีบเร่งแก้ไขให้ได้โดยไว
ขณะที่นางอารีวรรย์ พันเหลา อายุ 65 ปี แม่ค้าหมูปิ้ง กล่าวว่า ตนเองขายหมูปิ้งรถเข็นมานานกว่า 20 ปี ยอมรับว่าสถานการณ์หมูขาดตลาด-ราคาแพง ครั้งนี้ ส่งผลกระทบมากที่สุดเท่าที่เคยประสบมา สิ่งเดียวที่พอทำได้เพื่อให้ร้านยังคงอยู่รอดได้คือการปรับราคาหมูปิ้งเพิ่มขึ้น จากเดิมเคยขายอยู่ไม้ละ 5 บาท ปัจจุบันต้องปรับมาขายไม้ละ 8 บาทและการปรับราคาขายย่อมส่งผลกระทบต่อปริมาณลูกค้าที่ลดลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ สุดท้ายผลกระทบการแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นก็ต้องตกอยู่ที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือรายย่อยอย่างพวกตน ทุกวันนี้มำได้แค่เพียงวิงวอนขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาและควบคุมราคาให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
Advertisement