อัยการธนกฤตเปิดหลักเกณฑ์ตัดคะแนนตามระเบียบจราจรใหม่ แต่ละคนมี 12 คะแนน ตัดตั้งแต่ 1-4 คะแนน แล้วแต่ความผิด ได้ใบสั่งไม่จ่ายค่าปรับ ขับรถเร็วเกินกำหนด

อัยการธนกฤตเปิดหลักเกณฑ์ตัดคะแนนตามระเบียบจราจรใหม่ แต่ละคนมี 12 คะแนน ตัดตั้งแต่ 1-4 คะแนน แล้วแต่ความผิด ได้ใบสั่งไม่จ่ายค่าปรับ ขับรถเร็วเกินกำหนด ไม่สวมหมวกกันน็อค ถูกตัด 1 แต้ม ฝ่าไฟแดง ขับรถย้อนศร ถูกตัด 2 แต้ม เมาแล้วขับ แข่งรถซิ่ง ถูกตัด 4 แต้ม ต้องรอ 1 ปี ถึงได้แต้มคืน กรณีไม่รู้ตัวคนขับ ให้ตัดคะแนนเจ้าของรถ ใครถูกตัดเหลือศูนย์ ถูกพักใช้ใบขับขี่ 90 วัน

         เมื่อวันที่ 17กรกฎาคม 65 ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุดได้ให้ความเห็นข้อกฎหมายผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับระเบียบที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 เกี่ยวกับระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ. 2565 โดย สาระสำคัญของระเบียบการตัดคะแนนตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ. 2565 ออกโดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและอธิบดีกรมการขนส่งทางบก โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 142/1 วรรคสอง และมาตรา 142/4 และใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566) ระเบียบนี้มีสาระสำคัญที่น่าสนใจในการกำหนดหลักเกณฑ์การบันทึกคะแนน การตัดคะแนน และการคืนคะแนนความประพฤติในการขับรถ ดังนี้

1. ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่แต่ละรายมีคะแนนความประพฤติในการขับรถเพื่อใช้ในการบันทึกคะแนนตามระเบียบนี้ จำนวนคนละไม่เกิน 12 คะแนน ไม่ว่าผู้นั้นจะได้รับใบอนุญาตขับขี่กี่ชนิดก็ตาม และต้องจัดให้มีช่องทางให้ผู้ขับขี่สามารถตรวจสอบคะแนนความประพฤติในการขับรถของตนได้
2. ในการตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ขับขี่ที่กระทำความผิดให้ตัดคะแนนกับผู้ขับขี่ ดังต่อไปนี้
ก. กรณีรู้ตัวผู้ขับขี่ ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ที่กระทำความผิด ให้ตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ขับขี่นั้น
ข. กรณีไม่พบหรือไม่ทราบตัวผู้ขับขี่และเป็นใบสั่งที่ติด ผูก หรือแสดงใบสั่งไว้ที่รถหรือส่งใบสั่งทางไปรษณีย์ ให้ตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถของบุคคลธรรมดาซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ ตามชื่อที่ปรากฏในหลักฐานทางทะเบียนเป็นผู้ครอบครองรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ หรือเป็นผู้ประกอบการขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
3. การตัดคะแนน
3.1 ตัดคะแนน ครั้งละ 1 คะแนน เช่น ขับรถไม่หยุดให้คนเดินข้ามทาง ณ ทางข้าม ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว ขับรถบนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร ขับรถในขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยไม่ใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา ขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด ขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกกันน็อค ขับขี่รถยนต์โดยไม่รัดเข็มขัดนิรภัยหรือไม่จัดให้คนโดยสารรถยนต์รัดเข็มขัดนิรภัย ได้รับใบสั่งแล้วไม่ชำระค่าปรับโดยไม่มีเหตุอันสมควร
3.2 ตัดคะแนน ครั้งละ 2 คะแนน เช่น ขับรถโดยไม่ปฏิบัติตามสัญญาณจราจรไฟสีแดงหรือเครื่องหมายจราจรสีแดงที่มีคำว่า “หยุด” ขับรถย้อนศร ขับรถในระหว่างที่ใบอนุญาตขับขี่ถูกสั่งยึด หรือถูกสั่งพักใช้
3.3 ตัดคะแนน ครั้งละ 3 คะแนน เช่น ขับรถในขณะหย่อนความสามารถที่จะขับ ขับชนแล้วหนี ขับรถในลักษณะที่ผิดปกติวิสัยของการขับรถหรือไม่อาจเห็นทางด้านหน้าหรือด้านหลัง ด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านได้พอแก่ความปลอดภัย
3.4 ตัดคะแนนครั้งละ 4 คะแนน เช่น ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ขับรถในขณะเสพยาเสพติดให้โทษหรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น แข่งรถโดยไม่ได้รับอนุญาต
4. ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ซึ่งถูกตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถจนเหลือศูนย์คะแนนจะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ทุกชนิดคราวละ 90 วัน ตามมาตรา 142/1 วรรคสาม
5. การคืนคะแนน
5.1 ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ซึ่งถูกตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถจะได้รับคืนคะแนนความประพฤติในการขับรถตามจำนวนที่ถูกตัดในแต่ละครั้งในวันถัดจากวันครบกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่ถูกตัดคะแนนครั้งนั้น
5.2 ผู้ซึ่งถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ เมื่อพ้นกำหนดการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่แล้ว ให้ได้รับคืนคะแนนความประพฤติในการขับรถที่ถูกตัด ในวันถัดจากวันครบกำหนดการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ จำนวน 8 คะแนน สำหรับคะแนนที่เหลืออีก 4 คะแนนนั้น ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่จะได้รับคืนก็ต่อเมื่อไม่ได้ถูกตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถอีกเลยในรอบระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันที่ครบกำหนดการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่
Advertisement