เมื่อวันที่ 24 ก.พ.65 ที่ โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดการประชุมวิชาการ “ก้าวย่าง บนทางเสี่ยง : การพนันในโลกที่กำลังเปลี่ยนไป” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และข้อค้นพบจากงานวิจัยสู่สาธารณะ เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ชี้ให้เห็นแนวทางรับมือกับปัญหาการพนันซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสุขภาพและสังคม ร่วมนำเสนอนโยบาย มาตรการ หรือกลไกที่เหมาะสมในการจัดการกับการพนันในสังคมไทย โดยเฉพาะการปกป้องกลุ่มเป้าหมายสำคัญคือเด็กและเยาวชน
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิด-19 มีการประกาศล็อกดาวน์ ห้ามรวมกลุ่ม ห้ามมั่วสุม แต่ก็ยังมีผู้ฝ่าฝืนรวมตัวเล่นการพนัน ก่อให้เกิดคลัสเตอร์การแพร่ระบาดโควิด-19 นอกจากนี้การตั้งวงพนันยังพ่วงด้วยกิจกรรมทางสังคม การพูดคุย การสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย ทำให้บ่อนพนันเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะทำให้เชื้อโควิด-19 แพร่กระจายได้ง่าย และกว่า 2 ปีที่ผ่านมาโควิด-19 มีผลต่อการใช้ชีวิตของคนทั่วโลก ผู้คนเปลี่ยนวิถีไปสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้การพนันออนไลน์เติบโตแบบก้าวกระโดด มีจำนวนผู้เปิดบัญชีใหม่เพื่อเข้าเล่นพนันในเว็บไซต์จำนวนมาก ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงของปัญหาการพนันเพิ่มขึ้นตามมา
“สสส. สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้แบบเท่าทัน ผลักดันให้เด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกัน พัฒนาผลักดันการขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดกลไกการควบคุม ป้องกัน ลดปัญหาที่เกิดจากการพนัน การประชุมครั้งนี้จะชี้ให้เห็นถึงปัญหา และแนวทางรับมือกับปัญหาพนัน นำไปสู่การออกแบบนโยบาย มาตรการ ผลักดันให้ภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญของปัญหา กำหนดให้การป้องกันและลดผลกระทบจากการพนันเป็นวาระแห่งชาติ รวมถึงให้มีกลไกของหน่วยงานภาครัฐเป็นเจ้าภาพหลักในการทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง” ดร.สุปรีดา กล่าว
ด้าน รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในช่วงการระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 การพนันออนไลน์เติบโตเป็นประวัติการณ์ มีคนไทยเล่นพนันออนไลน์มากถึง 3.6% หรือประมาณ 1.947 ล้านคน เพิ่มขึ้น 135.8% เมื่อเทียบกับปี 2562 ด้านผลกระทบ พบว่า 15.1% ของผู้ที่เล่นพนันในปี 2564 หรือประมาณ 4.882 ล้านคน ระบุว่าได้รับผลกระทบจากการพนัน เช่นมีปัญหาหนี้สิน ปัญหาสุขภาพ ความเครียด เสียสุขภาพจิต ปัญหาความสัมพันธ์และภาพลักษณ์ทางสังคม มีปากเสียงกับคนในครอบครัว การทุจริต และอาชญากรรม โดยประมาณ 1.127 ล้านคน มีหนี้สินที่เกิดจากการพนันรวมกันประมาณ 15,307 ล้านบาท หรือเฉลี่ยคนละ 13,579 บาท และผลการทำแบบประเมินความรุนแรงของการเล่นพนันที่เป็นปัญหา พบว่า 10.9% ของคนเล่นพนันในปี 2564 หรือประมาณ 3.512 ล้านคน มีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นนักพนันที่มีปัญหา
“ในปี 2564 คนไทยเล่นการพนันมากถึง 59.6% หรือประมาณ 32.33 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.9 ล้านคน จากปี 2562 ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่เล่นพนันครั้งแรกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา หรือเรียกว่า “นักพนันหน้าใหม่” เกือบ 8 แสนคน โดยเพศชาย เพศหญิง และนักพนันในทุกช่วงวัยมีสัดส่วนคนเล่นพนันเพิ่มขึ้น ที่น่ากังวลใจคือ 29.5% ของประชากรเด็ก อายุ 15-18 ปี เล่นการพนัน มีวงเงินหมุนเวียนรวม 29,155 ล้านบาท และ 54.6% ของเยาวชน อายุ 19-25 ปี เล่นการพนัน มีวงเงินหมุนเวียนรวม 93,321 ล้านบาท ทั้งสองกลุ่มมีสัดส่วนคนเล่นเพิ่มขึ้น และวงเงินพนันหมุนเวียนเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ดังนั้นการพนันจึงเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข และยิ่งกรณีที่จะมีกาสิโนถูกกฎหมายในประเทศไทย ควรต้องมี 1.การปรับปรุงกฎหมายการพนัน โดย 2.ตั้งคณะกรรมการกำกับและควบคุมการพนัน ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น 3. ตั้งคณะกรรมการลดผลกระทบจากการพนัน ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นเช่นเดียวกัน และ 4. ให้มีกองทุนลดผลกระทบจากการพนัน เพื่อลดปัญหา รวมถึงป้องกันการเกิดนักพนันหน้าใหม่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่อาจรู้ไม่เท่าทันสื่อ ที่แฝงการพนันรูปแบบต่าง ๆ” รศ.ดร.นวลน้อย กล่าว
Advertisement