เมื่อวันที่ 16 มี.ค.65 ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) นายจีรพันธ์ เพชรขาว หรือ “หมอปลา” พร้อมด้วย นายไพศาล เรืองฤทธิ์ ทนายความ, นายกฤษฎา โลหิตดี หรือ ทนายโนบิตะ พานายภาณุมาศ จิตวศินกุล หรือเฮียเปี๊ยก นักธุรกิจ และ น.ส.เอ (นามสมมุติ) ผู้เสียหาย เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. เพื่อให้ทำการตรวจสอบกลุ่มเครือข่ายหลอกวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งข้าราชการ ซึ่งอ้างว่ารู้จักกับตำรวจชั้นผู้ใหญ่ รวมถึงบุคคลที่มีตำแหน่งในสังคม โดยมี พ.ต.อ.เทวิน ขุนแก้ว ผกก.กลุ่มงานสอบสวน บก.ป. เป็นตัวแทนรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว
โดย น.ส.เอ เปิดเผยว่า ตนได้รู้จักกับ นางบี (นามสมมุติ) จากการไปร่วมทำบุญด้วยกันหลายครั้ง ต่อมาเมื่อ นางบี ทราบว่าสามีของตนรับราชการตำรวจ จึงพยายามเข้ามาทำทีตีสนิทมากขึ้น ก่อนขอให้ทางครอบครัวของตนช่วยทำบุญกฐิน เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท ตนเห็นว่าเป็นการทำบุญจึงโอนเงินให้ไป กระทั่งผ่านไปไม่นานนัก นางบี ก็เริ่มออกอุบายนัดสามีของตนมาที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง และได้พบกับ นางดี ซึ่งเป็นเจ้าของร้าน และ นายดำ ซึ่งอ้างว่า เป็น “หม่อมหลวง” โดย นางบี ได้แนะนำว่าทั้งสองคนรู้จักนักการเมือง และตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเฉพาะนายดำ ที่มีฐานันดรเป็นหม่อมหลวง ทำให้รู้จักผู้ใหญ่ในวงราชการหลายคน สามารถช่วยเหลือให้สามีของตนเลื่อนตำแหน่งจากรองผู้กำกับเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจได้ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องยอมจ่ายเงินเป็นค่าดำเนินการ สามีและตนเอง จึงไปหากู้ยืมเพื่อนฝูงแล้วโอนเงินให้กับทั้ง 3 คน หลายครั้ง เป็นจำนวน 5,750,000 บาท แต่เมื่อผลการแต่งตั้งออกมา กลับปรากฎว่าไม่ได้รับการแต่งตั้งตามที่กล่าวอ้าง จึงไปขอเงินคืน แต่กลับถูกปฏิเสธ โดยนายดำ และนางดี ระบุว่าคืนเงินให้นางบี ไปหมดแล้ว ตนจึงทวงถามไปที่ทาง นางบี จึงมีการคืนเงินให้มาบางส่วน จากนั้นก็เริ่มบ่ายเบี่ยงไม่ให้เงินอีก จึงเชื่อว่าถูกหลอกและมีการทำกันเป็นขบวนการ และเชื่อว่าน่าจะมีผู้ตกเป็นเหยื่ออีกหลายราย ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ตนและครอบครัวเดือดร้อนต้องมีหนี้สินจำนวนมาก
ขณะที่นายกฤษฎา เปิดเผยว่า ลักษณะของขบวนการนี้คือมีการตีสนิทเข้ามาชักชวนให้ทำบุญงานกฐิน ซึ่งหนึ่งในขบวนการมีบุคคลที่มีบรรดาศักดิ์เป็นหม่อมหลวง โดยขบวนการมักจะนัดหมายเหยื่อให้มาที่ร้านอาหารของขบวนการและจะโน้มน้าวชักจูงเหยื่อโดยการอ้างว่ารู้จักกับคนมีชื่อเสียงในสังคม เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ และโอนเงินให้ ซึ่งครั้งแรกนั้นเหยื่อโอนเงินไปจำนวน 3,000,000 บาท จากนั้นทางขบวนการจะอ้างว่ามีผู้ที่ต้องการตำแหน่งหลายคน เพื่อให้เหยื่อจ่ายเงินเพิ่ม นอกจากนี้ยังพบว่าทางขบวนการดังกล่าวยังมีความเชื่อมโยงถึงโควตาลอตเตอรี่อีกด้วย
ด้านนายภาณุมาศ เปิดเผยว่า ผู้เสียหายรายอื่นๆ มีตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับรองสารวัตร ไปจนถึงรองผู้กำกับรวมถึงข้าราชการครูถูกหลอกลวงในลักษณะเดียวกัน โดยข้าราชการครูส่วนใหญ่มักถูกหลอกลวงว่าจะได้รับมอบรางวัล รวมถึงได้ลงหนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีผู้เสียหายที่ร้องเรียนมายังตนประมาณ 8 ราย รวมมูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท
ขณะที่นายไพศาล เปิดเผยว่า ขบวนการดังกล่าวมีการแบ่งหน้าที่กัน อ้างว่ามีการแจกรางวัลให้กับบุคคลต่าง ๆ จากนี้จะทำการขยายผลเพิ่มเติม จึงอยากฝากไปนังสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ทำการตรวจสอบ ว่ามีขบวนการดังกล่าวรวมถึงมีบุคคลสำคัญต่างๆ ที่มีส่วนรู้เห็นตามคำกล่าวอ้างจริงหรือไม่ โดยในวันนี้จะให้ทางกองบังคับการปราบปรามทำการตรวจสอบ
Advertisement