สายไหมต้องรอด พาผู้เสียหาย ร้อง ปอศ. ถูกแอพขายของออนไลน์ตุ๋นร่วมลงทุน สูญหลักพันล้านบาท

 

          เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 18 ส.ค. ที่ ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการสอบสวนกลาง (บช.ก.) นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด พาตัวแทนกลุ่มผู้เสียหาย จำนวน 30 ราย จากคดีหลอกให้ลงทุนซื้อสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่น เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. เพื่อขอให้ช่วยติดตามจับกุมผู้ต้องหา เนื่องจากทราบว่ากลุ่มผู้ต้องหากำลังทำกิจกรรมหลอกให้นักเรียนและผู้ปกครองตามโรงเรียนร่วมลงทุน อาจก่อให้เกิดมูลค่าความเสียหายนับ 1,000 ล้านบาท โดยมี พ.ต.ท.วรเดช ชมภูพันธ์ รอง ผกก.(สอบสวน) กก.4 บก.ปอศ. เป็นผู้แทนรับเรื่องดังกล่าว

            นายเอกภพ กล่าวว่า วันนี้พากลุ่มผู้เสียหายที่ถูกหลอกซื้อสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่นหนึ่ง (smart plus) ซึ่งขณะนี้คาดว่ามีผู้เสียหายหลักหมื่นคน และมีความเสียหายถึงหลักพันล้านบาท เฉพาะแค่ในกลุ่มตัวแทนที่มาวันนี้ ก็เสียหายนับร้อยล้านบาทแล้ว จึงมาขอความช่วยเหลือจาก พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ให้ติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ เพราะได้มีการแจ้งความในหลายท้องที่ทั่วประเทศ และออกหมายจับแล้ว 5 ราย แต่ยังไม่มีการติดตามจับกุม นอกจากนี้ในบางพื้นที่แจ้งความแล้วแต่คดีไม่คืบหน้า
         โดยทางแอพพลิเคชั่น ยังมีการจ้างดารานักแสดงมาช่วยโปรโมท หากไม่หยุดยั้งกระบวนการนี้ อาจส่งผลให้มีความเสียหายมากยิ่งขึ้น เพราะขณะนี้ผู้เสียหายบอกว่าความเสียหายอยู่ที่หลักพันล้าน มีจำนวนผู้เสียหายหลักหมื่นคน ต่อไปหากมีผู้เสียหายถึงหลักแสนหรือล้านคนก็ได้ ทั้งนี้ ตนขอให้มีการปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพราะปัจจุบันมีการโกงเยอะมาก ผู้เสียหายบางรายถึงขั้นเสียชีวิตและไม่ได้เงินคืน

          ขณะที่ นายพงศ์ศักดิ์ สุขแสงนิล อายุ 40 ปี พนักงานบริษัท กล่าวว่า ทางแอพพลิเคชั่นได้เสนอขายสินค้าทั่วไป โดยอ้างว่าเงินที่ได้จากการซื้อสินค้าจะนำไปลงทุนในการจำหน่ายสินค้าให้ลูกค้าในประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่และมีความนิยมในการบริโภคหรือใช้สินค้าที่นำไปขาย เช่น น้ำพริก ราคาตลับละ 15 บาท แต่ขายในราคา 1,200 บาท อ้างว่าเมื่อซื้อแล้วจะได้รับเงินคืน 1,500 บาทในอีก 7 วัน จึงทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ โดยมีการขายในลักษณะนี้มานานนับปี รวมถึงมีการเข้าไปประชาสัมพันธ์ในโรงเรียน เขิญชวนให้สมัครแอพพลิเคชั่นแล้วจะแจกเงิน นอกจากนี้ยังมีการเชิญชวนให้ซื้อทอง 1 บาท ราคา 40,000 บาท แต่จะได้รับเงิน 60,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมาช่วงแรกมีการให้เงินจริง แต่ช่วงหลังไม่ได้มีการให้เงินตามที่กล่าวอ้าง

          ขณะที่นางอรปรียา แก้วพูล อายุ 53 ประกอบธุรกิจส่วนตัว กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ไปแจ้งความกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แต่ไม่มีความคืบหน้า และทางบริษัทยังมีการดำเนินการอยู่ จึงอยากขอความเป็นธรรม โดยส่วนของตนซื้อของหลายอย่างที่แอพพลิเคชั่นขาย เพราะเมื่อได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยได้ยิน ก็หลงเชื่อและลงทุนไป

          ขณะที่ น.ส.ภัทรวดี สีน้ำอ้อม อายุ 45 ปี ประกอบธุรกิจส่วนตัว กล่าวว่า สำหรับแนวทางของธุรกิจดังกล่าว มีการอ้างว่าเป็นสินค้าฝากขาย เมื่อครบระยะเวลาจะมีการชำระค่าสินค้า โดยส่วนของตนยังไม่ได้รับค่าสินค้า และยังมีผู้ประกอบการที่มีมูลค่าความเสียหายถึงหลักร้อยล้านบาท เบื้องต้นเจ้าหน้าที่รับเรื่องไว้ก่อนส่งต่อผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการต่อไป
Advertisement