“ศรีสุวรรณ” ร้อง กกต. สอบ พปชร. มีมติให้สมาชิก 21 คนออกเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่

          เมื่อวันที่ 21 ม.ค.65 ที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อไต่สวนและวินิจฉัย กรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีมติให้ 21 ส.ส.ของพรรคออกจากสมาชิกสภาพ เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ 2561 และ พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หรือไม่ อย่างไร

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อค่ำวันที่ 19 ม.ค.65 ที่ผ่านมา มีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ของพรรค โดยมีมติให้ส.ส. 21 คน ที่เป็นกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค โดยอ้างกลุ่ม ส.ส.ดังกล่าวมีการเรียกร้องให้ปรับโครงสร้างพรรคขนานใหญ่ ถือได้ว่าเป็นเหตุที่ร้ายแรงที่กระทบกับเสถียรภาพและเอกภาพของ พปชร. โดยมีมติตามข้อบังคับข้อที่ 54(5) ประกอบวรรคท้าย ให้สมาชิกภาพสมาชิกสิ้นสุดลงเนื่องจากเป็นเหตุร้ายแรง เป็นเรื่องความมั่นคง เอกภาพ เสถียรภาพของพรรค

สำหรับการมีมติดังกล่าว มีข้อสงสัยหลายประการ ดังนี้ 1)การที่สมาชิก หรือ ส.ส.เรียกร้องให้ปรับโครงสร้างพรรคขนานใหญ่ จะถือได้ว่าเป็นเหตุที่ร้ายแรง จนต้องให้ออกจากสมาชิกพรรคนั้น ชอบหรือไม่ 2)การที่มี 17 กรรมการบริหารพรรคและ ส.ส. 61 คน รวมทั้งสิ้น 78 คนประชุมกันแล้วมีมติให้สมาชิกพรรคออกจากสมาชิกภาพ โดยมิได้มี ส.ส.ทั้งหมดของพรรคเข้าร่วมประชุมจนครบ จะถือว่าชอบหรือไม่ 3)ข้ออ้างในการมีมติเห็นชอบให้ ส.ส.21 คน พ้นจากการเป็นสมาชิกภาพของพรรคนั้นโดยอ้างข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ข้อ 54(5) ว่าเป็นเหตุร้ายแรงอื่นนั้น โดยที่พรรคพลังประชารัฐไม่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไต่สวน สอบสวน สมาชิกทั้ง 21 คนเพื่อหาข้อสรุปก่อนที่จะเสนอให้ที่ประชุมร่วมของพรรคพิจารณาเสียก่อนนั้น ชอบหรือไม่ และ 4)ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่ถูกให้ออกนั้น ต้องพ้นสภาพ สส.ไปเลยหรือไม่ เนื่องจากมิได้เกิดเหมือนกรณีการขอยุบพรรคหรือการถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค เพราะถ้าย้ายพรรคไปแล้วก็จะไปแซง บ/ช ของพรรคอื่น หรือ ไปอยู่พรรคใหม่ที่ไม่เคยส่งเลือกตั้ง ก็จะไปเป็น บ/ช รายชื่อของพรรคนั้นๆ โดยไม่เคยถูกเลือกมาเลยไม่ว่าจะแบบไหน ซึ่งน่าจะหมดสภาพ สส.ไปเลย และ บ/ช รายชื่อ ของ พปชร.ลำดับถัดไปน่าจะได้ขึ้นมาแทนที่ หรือไม่ อย่างไร

ด้วยข้อสงสัยข้างต้นซึ่งอาจขัดต่อข้อบังคับพรรคและกฎหมาย สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญจึงต้องมาแจ้งต่อ กกต.ให้ดำเนินการตรวจสอบ หากพบเป็นการฝ่าฝืนย่อมอาจเข้าข่ายกระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข ตาม พรป.พรรคการเมือง 2560 ม.92(2) ซึ่งเป็นเหตุให้ กกต.อาจเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือสั่งยุบพรรคที่ฝ่าฝืนนั้นได้ นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด
Advertisement