จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานสารเคมีซอยกิ่งแก้ว 21 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ในช่วงเช้ามืดวันที่ 5 ก.ค.64 ก่อนที่ต่อมาจะเกิดการระเบิดอย่างรุนแรง ส่งผลให้บ้านเรือนในละแวกใกล้เคียงได้รับความเสีย จนต้องสั่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยมีการตั้งศูนย์อพยพช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 8 จุด ตามที่ได้เคยมีการนำเสนอไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 6 ก.ค.64 ที่ โรงเรียนเตรียมปริญญานุสรณ์ นายชุมพร รังรงทอง อายุ 59 ปี ผอ.โรงเรียนเตรียมปริญญานุสรณ์ กล่าวว่า สำหรับศูนย์อพยพแห่งนี้ ปัจจุบันมียอดผู้ได้รับผลกระทบลงทะเบียนเข้ามาขอความช่วยเหลือประมาณ 350 คน แบ่งเป็นผู้อพยพพักค้างคืน จำนวน 250 คน และอีกประมาณ 100 คน เป็นผู้อพยพชั่วคราวไม่พักค้าง ซึ่งในส่วนของการอำนวยความสะดวก เบื้องต้นมีการจัดเตรียมห้องพักไว้จำนวน 25 ห้อง โดยจะแบ่งเป็นครอบครัวละ 1 ห้อง อยู่ได้ประมาณ 10 คน เพื่อความปลอดภัยตามมาตรการควบคุมโควิด รวมถึงมีการตั้งครัวพระราชทาน เพื่อช่วยเหลือเรื่องอาหาร น้ำดื่ม นอกจากนี้ที่ศูนย์อพยพแห่งนี้ยังได้รับความช่วยเหลือจากทางหน่วยงานสาธารณสุข จัดส่งเจ้าหน้าที่มาตั้งจุดให้บริการตรวจคัดกรองโควิด อีกด้วย
ด้านนางสวาท สร้อยฉิม อายุ 63 ปี อาชีพแม่บ้าน หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ และเข้าพักพิงอยู่ในศูนย์อพยพแห่งนี้ กล่าวว่า สภาพจิตใจตอนนี้ดีขึ้นมาก ส่วนตัวบ้านเรือนไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพียงแต่บ้านพักตั้งอยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตรจากจุดเกิดเหตุ ตนและคนในครอบครัวส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กและคนชรา กว่า 10 ชีวิต จึงต้องอพยพมาพักอาศัยอยู่ที่ศูนย์ดังกล่าวเพื่อความปลอดภัย ซึ่งต้องขอบคุณทางเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน รวมถึงพลเมืองดีต่างๆ ที่คอยให้การช่วยเหลือดูแลเป็นอย่างดี และเชื่อว่าหลังจากนี้ไม่นานตนและครอบครัว น่าจะสามารถกลับเข้าไปใช้ชีวิตที่บ้านพักได้ตามปกติ ส่วนเรื่องที่จะเป็นกังวลก็คงมีเพียงแค่เรื่องการสารเคมีตกค้าง เพราะเกรงจะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพในระยะยาว ตนอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมาตั้งแต่เกิด ในอดีตเมื่อประมาณ 30 ปี ก่อนเคยเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานผลิตโฟมลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว 1 ครั้ง แต่ไม่รุนแรงหนักเท่าเหตุการณ์ล่าสุดนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงไม่ทันได้คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นมา พร้อมยอมรับว่าที่ผ่านมาไม่เคยทราบมาก่อนว่าภายในโรงงานต่างๆ เหล่านี้มีการกักเก็บสารเคมีอันตรายใดๆ ไว้บ้าง และมีปริมาณมากน้อยเท่าใด เพราะมองเป็นเรื่องไกลตัว นางสวาท กล่าว
ต่อมาเวลา 13.30 น. นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุ โดย นายชัยพจน์ กล่าวว่า การลงพื้นที่จุดเกิดเหตุครั้งนี้เป็นการตรวจสอบภาพรวมของสถานการณ์ ซึ่งภาพรวมขณะที่ถือว่าอยู่ในจุดที่เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เกือบทั้งหมด โดยหลังจากนี้จะมีการประชุมหารือที่ศูนย์อำนวยการใหญ่อีกครั้ง เพื่อประเมินว่าจะสามารถเปิดพื้นที่ให้ประชาชนที่พักอาศัยในละแวกใกล้เคียงกลับเข้ามาพักอาศัยในพื้นที่ตามปกติได้เมื่อใด ซึ่งย้ำว่าทางเจ้าหน้าที่จะพยายามเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ตัองขึ้นอยู่กับเกณฑ์ความปลอดภัยเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องมลพิษทางอากาศ น้ำ พื้นดิน ที่อาจมีสารเคมีปนเปื้อน ซึ่งในส่วนนี้ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้คำแนะนำรวมถึงวางแผนขั้นตอนการดำเนินการเพื่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด
นายนภัทร กลมเกลี้ยง เจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญู หนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ในจุดเกิดเหตุ กล่าวว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ทั้งหมดแล้ว แต่เพื่อความปลอดภัยจึงนำเครื่องตรวจจับความร้อนมาช่วยในการค้นหาจุดที่ยังมีพลังงานความร้อนสะสมหลงเหลืออยู่ เพื่อทำการเฝ้าระวัง ซึ่ง ณ ตอนนี้เหลือเพียง 1 จุด เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการฉีดโฟมดับเพลิงบริเวณจุดดังกล่าวไว้ตลอดเวลา เพื่อควบคุมอุณหภูมิป้องกันไม่ให้เกิดไฟปะทุขึ้นมาอีก
“แม้เปลวเพลิงจะสงบ แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ เพราะสารสไตรีนโมโนเมอร์ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในจุดเกิดเหตุนั้นเป็นสารเคมีที่ติดไฟได้ง่าย โดยสามารถจุดติดด้วยอุณหภูมิเพียงแค่ 36 องศา จึงจำเป็นต้องมีการฉีดโฟมดับเพลิงล่อเลี้ยงอุณหภูมิไว้ตลอดเวลา” นายนภัทร กล่าว
ขณะที่นายวีระกิตติ์ รันทกิจธนวัชร์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่ายังมีสารเคมีตกค้างอีกประมาณ 4-5 ถัง แต่ไม่รู้ว่าจะเหลือในปริมาณเท่าไหร่ ซึ่งหลังจากนี้ทางผู้ประกอบการ หรือเจ้าของโรงงานก็จะต้องส่งสารเคมีที่ยังหลงเหลืออยู่ไปทำลายทั้งหมด ส่วนเศษซากภายในโรงงานทั้งหมด ก็จะต้องมีการแจ้งดำเนินการตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เนื่องจากมีการปนเปื้อน ที่ผ่านมาทางโรงงานมีการประเมินความเสี่ยง ทุกๆ 5 ปีอยู่แล้ว และโรงงานแห่งนี้มีการขออนุญาตก่อตั้งตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งในขณะนั้น บริเวณนี้ยังเป็นพื้นที่ว่างเปล่า แต่เมื่อบ้านเมืองมีความเจริญขึ้น ก็จะต้องปรับเปลี่ยนผังและแก้ไขปัญหาต่อไป
นายวีระกิตติ์ กล่าวต่อว่า สำหรับในอนาคตถือเป็นเรื่องราวที่ดีที่ทุกหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะคุยกัน เกี่ยวกับการจัดสัดส่วนในพื้นที่ต่างๆ โดยแยกระหว่างพื้นที่โรงงานและพื้นที่ชุมชน ส่วนอนาคตสามารถสร้างโรงงานได้อีกหรือไม่นั้น ตามสิทธิ์ใบอนุญาตยังคงอยู่ แต่มาตรการกฎเกณฑ์ และกฎหมายใหม่ที่ออกมา ก็อาจจะต้องมีการทบทวนอีกครั้ง
Advertisement