ย้อนอดีตเทียบเคียงประวัติอาชญากร “ศักดิ์ ปากรอ” ถึง “ ผกก.โจ้” ผู้ต้องหา มาตรา 289(5) น้อยคนจะถูกประหาร

จากกรณีมีกระแสข่าวว่าอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ หรือผกก.โจ้ และลูกน้องรวม 7 คน ผู้ต้องหาในคดีซ้อมทรมานนายจิระพงศ์ หรือมาวิน ธนะพัฒน์ อายุ 24 ปี ผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนเสียชีวิต ในทุกข้อกล่าวหาประกอบด้วย ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย ร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2523 มาตรา 172 , ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 , 288 , 289 (5) , 309 วรรค 2 ประกอบมาตรา 83 , 90 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 , พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 , 7 ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อกล่าวหาทั้งหมดดังกล่าว โดยเฉพาะมาตรา 289 (5) ที่ถือเป็นมิติใหม่ของการเอาผิดผู้ต้องหาคดีลักษณะดังกล่าว ตามที่ได้เคยมีการนำเสนอไปแล้วนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พ.ย.64 ผู้สื่อข่าวได้สอบถามความเห็นทางพนักงานสอบสวนหลายท่านที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายซึ่งส่วนใหญ่ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายมาตรา 289(5) ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานทารุณโหดร้าย ว่า ในอดีตที่ผ่านมาเคยมีผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีมาตราดังกล่าวมาแล้วหลายเคส ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคดีอุกฉกรรจ์และเป็นที่สนใจของสังคม ยกตัวอย่าง คดี “ศักดิ์ ปากรอ” ฆ่าแขวนคอยกครัว 5 ศพ คดี “สมคิด พุ่มพวง” ฆาตกรต่อเนื่อง ฆ่ารัดคอหญิงวัย 51 ปี และคดี “ไอซ์ หีบเหล็ก” ฆ่าอำพรางศพหญิงสาว แม้บทลงโทษมาตราดังกล่าวจะมีอัตราโทษสูงสุดประหารชีวิตสถานเดียว แต่เมื่อพิจารณาจากรายชื่อผู้ต้องหาที่กล่าวมา จะพบว่าส่วนใหญ่มักจบลงที่การตัดสินจำคุก เนื่องจากผู้ต้องหายอมรับสารภาพ ศาลจึงพิจารณาบรรเทาโทษให้เหลือแค่จำคุก มีเพียงกรณีของสมคิด พุ่มพวง รายเดียว ที่ศาลพิพากษาประหารชีวิต เนื่องจากเป็นการกระทำผิดซ้ำซาก

อย่างไรก็ตาม หากจะนำแนวฎีกาคดีในอดีตเหล่านี้มาเทียบเคียงเพื่อประเมินทิศทางความเป็นไปได้ของคดีพ.ต.อ.ธิติสรรค์ หรือ ผกก.โจ้ และพวก ก็คงเป็นเรื่องที่ตอบยากว่า พ.ต.อ.ธิติสรรค์ จะถูกตัดสินด้วยโทษประหารชีวิตหรือไม่เนื่องจากการพิจารณาอัตราโทษประหารชีวิตของศาลนั้นมีองค์ประกอบหลายส่วน เพราะเป็นอัตราโทษสูงสุด ซึ่งพยานหลักฐานที่มีต้องประจักษ์ชัด ไม่ว่าจะเป็นพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ พฤติกรรม การกระทำต่างๆ และองค์ประกอบต่างๆ ของผู้ต้องหา พยานสิ่งแวดล้อม รวมถึงคำให้การของผู้ต้องหา ซึ่งทางพนักงานสอบสวนต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า การกระทำของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ และพวก นั้น มี “เจตนาฆ่าหรือเจตนาทำร้าย” ซึ่งทั้งสองเจตนามีความหมายและอัตราโทษต่างกัน

ทั้งนี้อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการที่พนักงานสอบสวนกองปราบปรามฯ เลือกดำเนินการตั้งข้อกล่าวหา มาตรา 289(5) กับพ.ต.อ.ธิติสรรค์ และพวก นั้น น่าจะมาจากหลักฐานคลิปวิดีโอกล้องวงจรปิดในจุดเกิดเหตุ ที่บันทึกเหตุการณ์ของกลุ่มผู้ต้องหาขณะก่อเหตุได้อย่างละเอียดตั้งแต่เริ่มต้น รวมถึงคำพูดของกลุ่มผู้ต้องหาต่างๆ ซึ่งการนำถุงคลุมหัวแม้ตอนแรกจะมีเจตนาทรมาน ไม่ได้เจตนาฆ่า แต่เมื่อรัดคอเป็นเวลานานเกินกว่าที่คนจะขาดอากาศหายใจได้ นั่นก็แปลว่ากลุ่มผู้ต้องหาย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าหากกระทำเช่นนี้อาจส่งผลต่อชีวิตได้แต่ก็ยังกระทำต่อ ย่อมถือเป็นการกระทำที่เล็งเห็นผลจึงเข้าข่ายความผิดดังกล่าว แต่นี่ก็เป็นเพียงแค่มุมมองส่วนตัว ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจพิจารณาของศาลว่าท้ายที่สุดแล้วการดำเนินการเอาผิดกับผู้ต้องหาด้วยมาตราดังกล่าวนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่

Advertisement