เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.64 หลังจากเมื่อกลางดึกคืนที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศควบคุมสูงสุด ให้ร้านอาหารต่างๆ ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เปิดดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น โดยห้ามให้บริการนั่งทานอาหารในร้าน ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจบรรยากาศร้านอาหารต่างๆในพื้นที่ย่านหลักสี่ กทม. พบว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารส่วนใหญ่ต่างได้รับผลกระทบจากประกาศเร่งด่วนดังกล่าวเป็นจำนวนมาก แต่ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ พยายามปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ
นายเอกพงษ์ มนทอง อายุ 36 ปี เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่น อูมาชิ กล่าวว่า ยอมรับว่าได้รับกระทบค่อนข้างมาก เพราะค่อนข้างกะทันหัน ไม่ทันตั้งตัว วัตถุดิบที่สั่งเข้ามาสต๊อกไว้มีจำนวนมาก อาจเน่าเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่สามารถจำหน่ายให้หมดก่อนได้ทันเวลา เนื่องจากเวลาเปิดให้บริการที่มีจำกัด รวมถึงจำนวนลูกค้าที่น้อยลงซึ่งเป็นผลพวงจากการที่ไม่สามารถเข้ามารับประทานภายในร้านได้ เพราะอาหารญี่ปุ่นเป็นอาหารที่ต้องเน้นความสด ควบคู่ไปกับบรรยากาศของร้าน เมื่อขาดปัจจัยสำคัญเหล่านี้ อรรถรสในการรับประทานอาหารก็ถูกลดทอนลงไป ลูกค้าส่วนใหญ่จึงไม่นิยมซื้อไปรับประทานเองที่บ้าน อีกทั้งการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การขายมาเป็นแบบเดลิเวอรี่ ก็มาพร้อมกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าขนส่ง ค่าภาชนะใส่อาหารที่เพิ่มเข้ามา
“ที่ผ่านมาทางร้านให้ความร่วมมือ ยอมทำตามประกาศของภาครัฐทุกอย่าง เพียงแต่อยากขอให้รัฐช่วยแสดงท่าทีเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ชัดเจนมากกว่านี้ ไม่ใช่ 3-4 วันก่อน บอกจะไม่มีการล็อกดาวน์ร้านอาหาร ค้าขายตามปกติ แต่พอมาวันนี้กลับออกประกาศล็อกดาวน์กะทันหัน ผู้ประกอบการจึงไม่ทันได้เตรียมตัวหรือวางแผนรับมือ ในฐานะผู้ประกอบการคนหนึ่งจึงอยากให้ช่วยแสดงท่าทีที่ชัดเจนมากกว่านี้ รวมถึงมาตรการเยียวยาให้ความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่ผลักภาระให้กับผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียว” นายเอกพงษ์ กล่าว
ด้าน น.ส.ชมพูนุช นวมภักดี อายุ 40 ปี เจ้าของร้านอาหารแอทพระนคร กล่าวว่า ค่อนข้างกระทบพอสมควร วางแผนเตรียมตัวไม่ทัน วัตถุดิบที่สต๊อคเตรียมไว้ก็มีจำนวนมากเพราะไม่ทันได้คิดมาก่อนว่าจะถูกล็อกดาวน์ร้านอาหารอีกครั้ง ลำพังนับตั้งแต่วิกฤตโควิดรอบแรกที่ผ่านมา ร้านของตนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก รายได้ลดลงไปกว่า 70 เปอร์เซนต์ จากเดิมที่มี 2 สาขา ตอนนี้ต้องปิดตัวลงไปเหลือสาขาเดียว เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ และความอยู่รอดของพนักงาน ที่ผ่านมาทางร้านให้ความร่วมมือทำตามมาตรการของรัฐมาโดยตลอด เพียงแต่อยากให้ช่วยลงมาดูแลรับทราบสภาพปัญหาของผู้ประกอบการรวมถึงช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการรายย่อยแบบพวกตนให้มากกว่านี้บ้าง
Advertisement