ผอ.กรมทรัพยากรธรณี ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีเครื่องตรวจวัดมวลดินไม่แจ้งเตือน!

(28 ส.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ถนนพระราม 6 แขวงและเขตราชเทวี กรุงเทพฯ นายสมศักดิ์ วัฒนปฤดา ผู้อำนวยการกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม ในฐานะรองโฆษกกรม เป็นประธานในการชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีเครื่องตรวจวัดมวลดินไม่แจ้งเตือน! เนื่องจากใช้งานไม่ได้” ก่อนเกิดเหตุการณ์ดินถล่มที่เขานาคเกิด จังหวัดภูเก็ต นำไปสู่การเสียชีวิต 13 คน พร้อมยอมรับเครื่องมือขาดการซ่อมบำรุงเนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอ ยันไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามแก้ปัญหาแต่มาเกิดเหตุเสียก่อน

ทั้งนี้ มีรายงานว่า เครื่องตรวจวัดดินมวลบนเขานาคเกิดที่ติดอยู่ใต้ต้นไม้ บริเวณลานจอดรถของพระใหญ่ บนเขานาคเกิด ใกล้จุดดินถล่ม ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากมีปลวกเข้าไปอยู่ในระบบการทำงาน และมีต้นไม้ และสิ่งก่อสร้างบดบัง รวมไปถึงเครื่องวัดปริมาณน้ำฝนก็ไม่สามารถใช้งานได้เช่นเดียวกัน โดยทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าเครื่องขาดการดูแลรักษา และไม่มีงบประมาณ ซึ่งเครื่องวัดมวลดินถือเป็นอุปกรณ์สำคัญในการแจ้งเตือนทางตรง เมื่อดินมีการเคลื่อนตัว จะส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อแจ้งเตือนไปยังท้องถิ่นต่อไป

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ชาวบ้านในชุมชุนกะตะหลายคนไม่พอใจ เชื่อว่าหากเครื่องดังกล่าวใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ชาวบ้านในชุมชุนที่อยู่ด้านล่างอาจอพยพได้ทัน ก่อนเกิดเหตุดินถล่ม

ด้านนายสมศักดิ์ วัฒนปฤดา ผู้อำนวยการกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม ในฐานะรองโฆษกกรม กล่าวว่า ปัจจุบันเครื่องวัดมวลดินมีอยู่ทั่วประเทศ 25 เครื่อง อยู่ที่จังหวัดภูเก็ต 2 เครื่อง ติดตั้งตัั้งแต่ปี 2557 โดยไม่ได้รับการข้อมูลแจ้งเตือนจากทั้งสองเครื่องมาเป็นเวลาปีกว่าแล้ว / ยอมรับว่าเครื่องมือไม่ได้รับการซ่อมแซมที่ดีพอเนื่องจากไม่มีงบประมาณเพียงพอ โดยไม่ได้รับงบประมาณการซ่อมบำรุงตั้งแต่ปี 2563 เดิมเครื่องมือติดตั้งในเขตพื้นที่วัดพระใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่โล่ง โดยใช้พลังงานโซลาร์เซลบรรจุลงแบตเตอรี่ ต่อมา ทางวัดมีการขยายพื้นที่ ทำให้เกิดอุปสรรคทั้งการรับแสงโซลาเซลล์ รวมไปถึงการบดบังสัญญาณแจ้งเตือนที่ส่งภาพโทรศัพท์ และเซนเซอร์บางตัวก็เสีย จึงลดทอนศักยภาพเครื่องมือ รวมไปถึงเป็นดารเกิดฝนเพียงหย่อมเดียวทำให้ยากต่อการพยากรณ์

อย่างไรก็ตาม ทางกรมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ใช้งบประมาณ ปี 2567 ใช้ซื้อเครื่องมืออื่น ๆ และนำไปซ่อมบำรุง โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง เชื่อว่าจะได้ภายในเดือนกันยายน โดยจำมีการใช้งบกลางในการติดตั้งเครื่องเพิ่มอีกจำนวน 20 เครื่อง โดยจะทำการติดตั้งภายในจังหวัดภูเก็ตเพิ่มอีก 6 เครื่อง เนื่องจากมีโซนสีแดงมากถึง 8 โซน ส่วนทั้ง 2 เครื่องที่มีปัญหา จะมีการลงไปซ่อมบำรุง รวมถึงเจรจากับทางวัดเพิ่มขอเคลื่อนย้ายจุดติดตั้งเครื่องให้เหมาะสม

Advertisement