ทนายนกเขา-รสนา ร้อง “สมศักดิ์” แก้ พ.ร.บ.นิติวิทย์ หวังยกระดับกระบวนการยุติธรรมไทย เหตุหน่วยงานตรวจพิสูจน์ไม่เป็นอิสระ มีแต่ตำรวจเต็มบอร์ด

           เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 30 มี.ค.65 ที่กระทรวงยุติธรรม นายนิติธร ล้ำเหลือ กลุ่มประชาชนคนไทย พร้อม น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ยื่นหนังสือถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้แก้ไข พ.ร.บ.การให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ.2559 เพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม จากกรณีการเสียชีวิตของแตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์ ดาราสาวชื่อดัง

            นายนิติธร กล่าวว่า ต้องการให้พิจารณาแก้ไขเนื้อหาของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ใน 3 เรื่องหลักที่พบ คือ 1.รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีหน่วยงานเกี่ยวกับนิติเวช อย่างน้อย 2 หน่วยงานที่เป็นอิสระจากกัน แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีการตั้งคณะกรรมการ 1 คณะ ที่มี ผบ.ตร.เป็นคณะกรรมการ และ ผบก.พิสูจน์หลักฐาน เป็นคณะกรรมการ ที่เป็นตำรวจอยู่แล้ว จึงมองว่าไม่เป็นอิสระอย่างแท้จริง 2.การร้องเรียนของประชาชนต้องผ่านความเห็นของคณะกรรมการ ซึ่งกรรมการจะดำเนินการตามที่ผู้ร้องหรือไม่ก็ได้ หรือเพียงบางประเด็นก็ได้ ทั้งที่กฎหมายเดิมเปิดกว้าง ไม่สร้างภาระแบบนี้ และ 3.มาตรา 5 วงเล็บ 1 ระบุว่า หากตำรวจหรืออัยการร้องขอให้นิติวิทยาศาตร์ทำงาน ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรต้องนำเข้าสำนวนคดี หากไม่นำเข้าจะถือว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ซึ่งกรณีแตงโม เข้าวงเล็บ 4 คือต้องเข้าคณะกรรมการเพื่อพิจารณา แต่เมื่อกรรมการดำเนินการแล้ว กฎหมายไม่ได้กำหนดให้นำเข้าสำนวนคดี เท่ากับว่า พนักงานสอบสวนจะนำสิ่งที่นิติวิทย์ฯ ทำ เข้าสำนวนหรือไม่ก็ได้ ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ผู้ร้อง จึงมาร้องเรียนวันนี้ เพื่อตั้งคณะทำงานพิจารณา เป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งพวกเราก็เชื่อมั่นในตัวนายสมศักดิ์ และเชื่อว่าจะสามารถทำได้ เพราะติดตามการทำงานมาตลอด

          นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้เรียนให้กลุ่มประชาชนคนไทยได้ทราบว่า เวลาของรัฐบาลเหลืออยู่เพียง 1 ปี การแก้กฎหมายแต่ละฉบับต้องเร็วมากจนไม่แน่ใจว่าจะสามารถทำเสร็จภายในเวลาที่กำหนดหรือไม่ แต่ทางกลุ่มก็ขอให้เป็นแนวทางหรือเป็นบรรทัดฐานของคนรุ่นหลังเห็นถึงความสำคัญของการตรวจสอบ เพื่อให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงแก่นของความยุติธรรม ซึ่งข้อร้องเรียนดังกล่าวนั้นนับเป็นเรื่องที่ดี แต่การทำงานระบบราชการ กฎหมายในอดีตสู้กับปัจจุบันไม่ได้ และปัจจุบันก็สู้อนาคตไม่ได้ ต้องเป็นไปตามกลไกของวิถีในยุคนั้น แต่จะกระทำได้แค่ไหน ต้องมีกรรมการเข้ามาดูว่าประเด็นต่างๆ ขัดแย้งอย่างไร ตนได้ทำความเข้าใจกับผู้ร้องแล้ว ก็จะตั้งคณะทำงานเพื่อกลั่นกรองประเด็นต่างๆ เพื่อดำเนินการต่อไป โดยมีว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยธ.ดูแล

          นายนิติธรยังกล่าวถึงกรณีที่ดีเอสไอ จะรับเรื่องสืบสวนคดีแตงโมนั้นถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพื่อทวนสำนวนให้ละเอียด เพื่อที่จะตั้งกรรมการพิจารณา แต่กรณีมีนักกฎหมายอัยการบอกว่าไม่เข้าดีเอสไอ คงมีประสบการณ์มาไม่เท่ากัน เพราะการที่ดีเอสไอจะรับเป็นคดี มีเงื่อนไขคือความผิดมูลฐาน,การพิจารณาคดีอื่นๆ ว่ามีองค์ประกอบใด และเป็นคดีที่ประชาชนสนใจ ซึ่งขณะนี้ดีเอสไอกำลังพิจารณาเรื่องคดีอาญาอื่นๆ ฉะนั้นจึงมีอำนาจที่จะทำได้ หลังจากนี้ก็จะให้คณะทำงานคอยติดตาม เพราะคดีนี้มีความซับซ้อน มีหลายประเด็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่แพทย์อาจให้คำตอบไม่ครอบคลุม ส่วนที่ตนจะไปยื่นเรื่องเพิ่มเติมกับดีเอสไอ ยอมรับว่าก็คาดหวังให้รับ แต่ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของดีเอสไอ
          นายนิติธร กล่าวอีกว่า ในเรื่องคดีตนมีข้อสังเกตว่าทำไมตำรวจจึงนำเรือสปีดโบ๊ทของกลางไปตั้งตากแห้งไว้ ต้องการให้อะไรระเหยแห้งไปหรือไม่ เหตุใดจึงเก็บเรือได้แค่นี้ หากไม่มีเต้นท์มาครอบไว้ก็ติดต่อตนมา จะไปตั้งให้ และกรณีศพแตงโมฟันครบ ไม่หักนั้น มันไม่มีแค่นั้น ประชาชนคิดมากกว่านั้น ถ้าตำรวจคิดไม่ได้ทำไม่ได้ก็ลาออกไป เพราะตำรวจมีอำนาจตั้งที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้ ถ้า ผบ.ตร.และ ผบช.ภ.1 ทำไมได้ตนก็ยินดีเข้าไปทำ

           น.ส.รสนา กล่าวว่า การที่ตำรวจจะนำพยานหลักฐานเข้าสำนวนจะทำให้ไม่เป็นกลาง อาจจะทิ้งหลักฐานสำคัญบางอย่างไป ซึ่งในต่างประเทศเขาจะให้ผู้พิสูจน์หลักฐานแถลง ไม่ใช่ตำรวจ เพราะเราไม่มั่นใจว่าตำรวจจะแถลงทั้งหมดหรือไม่ ตอนนี้สังคมตั้งคำถามกับองค์กรตำรวจค่อนข้างมาก หากเราเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมาย และแยก 2 หน่วยงานถ่วงดุลกันนั้นมีความจำเป็น
Advertisement