ตำรวจไซเบอร์ บุกค้น 11 จุด จ.ชุมพร ทลายเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รายใหญ่ รวบ​ 2​ ผตห.​ พร้อมยึดเครื่อง sim pool 38 เครื่อง ตัดวงจรโทรหลอกเหยื่อ

 

            ​ (5 ต.ค.)​ เมื่อเวลา 13.00 น.
ที่​ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)​ เมืองทองธานี​ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท., พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 แถลงข่าวผลการเข้าตรวจค้น GSM Gateways (SimBox) แก็งค์คอลเซ็นเตอร์ในพื้นที่ จ.ชุมพร รวมทั้งสิ้น 11 จุด โดยสามารถควบคุมตัว น.ส.วิภาวณี สมวงษ์ อายุ 37 ปี และ นายสุจินดา ใหมเชื้อจีน อายุ 30 ปี สองสามีภรรยาชาว จ.ชุมพร พร้อมของกลาง GSM Gateways (Simbox) 38 เครื่อง และ router wifi ชนิดใส่ซิมการ์ดได้ 19 เครื่อง

          พล.ต.ท.วรวัฒน์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่ผ่านมา ตำรวจได้ทำการสืบสวนทราบว่ามีการใช้เครื่อง GSM Gateways (Simbox) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่แก็งค์คอลเซ็นเตอร์ใช้ในการกระทำความผิด ในพื้นที่จังหวัดชุมพร เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้วางกำลังและเฝ้าสังเกตบริเวณพื้นที่จังหวัดชุมพร พบว่ามีการใช้เครื่อง GSM Gateways (Simbox) บริเวณบ้านเลขที่ 4/15 ม.8 ต.ตากแดด อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร ซึ่งมีลักษณะเป็นห้องเช่าชั้นเดียว และพบสัญญาณบริเวณบ้านพักเรือนไทย บ้านเลขที่ 75/2 หมู่ 6 ซอยศูนย์ราชการ 5 ถนนเลียบทางรถไฟ ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นห้องพักให้เช่ารายเดือน จึงได้ทำการขอหมายค้นศาลจังหวัดชุมพร ตามบ้านเลขที่ดังกล่าวทั้ง 2 หลัง

พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวอีกว่า จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ร่วมกันเข้าตรวจค้นบ้านทั้งสองหลัง ซึ่งมีนายสุจินดา และ น.ส.วิภาวณี แสดงตัวเป็นผู้เช่าห้องพักดังกล่าว รวมถึงเป็นผู้พาเจ้าหน้าที่ไปตรวจค้นห้องพัก พบ GSM Gateways (Simbox) เครื่องแปลงสัญญาณโทรศัพท์แบบใส่ซิมการ์ด ระบบ IP-PBX, router wifi ชนิดใส่ซิมการ์ดได้ โดยสองสามีภรรยาให้การว่า ได้ร่วมกันเช่าห้องเพื่อเก็บอุปกรณ์ชนิดนี้ โดยแยกเก็บไว้ตามห้องพักต่างๆ ในพื้นที่ จ.ชุมพร รวม 11 จุด ก่อนจะนำตัวทั้งสองคนส่งดำเนินคดี ส่งพนักงานสอบสวน กก.2 สอท.1 ในข้อหา “มีและใช้เครื่องมือวิทยุคมนาคมไม่ถูกต้อง ตาม พ.ร.บ.วิทยุฯ” ต่อไป

         พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการทำงานของเครื่อง GSM Gateways (Simbox) ที่ตรวจยึดได้นั้น เป็นอุปกรณ์ที่คนร้ายแก็งค์คอลเซ็นเตอร์ใช้ในการโทรศัพท์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแล้วแปลงสัญญาณ เป็นสัญญาณโทรศัพท์เพื่อโทรออก​ หลอกลวงหรือข่มขู่ผู้เสียหาย โดยนำเข้าผ่านช่องทางชายเแดนอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งอุปกรณ์ที่ตรวจยึดได้จำนวน 38 เครื่องนี้ มีความสามารถโทรหลอกลวงหรือข่มขู่ผู้เสียหายได้มากถึงวันละ 608,000 ครั้ง หรือกว่า 18.2 ล้านครั้งต่อเดือน ซึ่งเมื่อรวมผลการปฏิบัติที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทโนโลยี สามารถตรวจยึด GSM Gateways (Simbox) ได้แล้ว จำนวน 240 เครื่อง ซึ่งสามารถระงับยับยั้งการโทรของคนร้ายได้กว่า 115 ล้านครั้งต่อเดือน รวมมูลค่าอุปกรณ์ที่ตรวจยึดได้มีมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท และจะได้ทำการขยายผลหาตัวขบวนการผู้กระทำผิดและหมายเลขโทรศัพท์เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

Advertisement