วันที่ 4 ตุลาคม ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ กลุ่มครูขอสอน ทั้งครู นักเรียน และนักศึกษา จัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพื่อส่งเสียงถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งทางกายและความคิด
โดยมีการจัดกิจกรรมร้องเพลงลามะลิลาสะท้อนการศึกษาของไทย, เชิญชวนเขียนป้ายผ้าความรุนแรงทางคำพูดที่เคยถูกกระทำ ซึ่งมีคำพูดฝังใจส่วนหนึ่งจากทวิตเตอร์มาแสดงด้วย, แสดงละคร ชื่อ ที่พื้นปลอดภัย สะท้อนปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้าง, ทีชเชอร์ทอลค์โดยกลุ่มครูขอสอน พูดถึงประเด็นปัญหาทางการศึกษาต่างๆ เป็นต้น
จากนั้นได้มีการอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องต่อกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษาและการสร้างโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย 6 ข้อ และอ่านแถลงการณ์เครือข่ายครูขอสอน เรื่องขอแสดงเจตนารมณ์ให้สถานศึกษาปฏิบัติตามหลักการของสิทธิมนุษยชน 4 ข้อ ก่อนมอบข้อเรียกร้องทั้งสองให้กับกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รับมอบ แล้วจุดเทียนเชิงสัญลักษณ์
ด้าน ดร.อัมพร พิณะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้รับผิดชอบความรุนแรงระหว่างครูกับนักเรียน ส่วนข้อต่อมาความปลอดภัยในโรงเรียนนั้น กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้มีความนิ่งนอนใจในกรณีดังกล่าว ในฐานะตนรับผิดชอบโรงเรียนของ สพฐ. ทั่วประเทศของรัฐ จะดำเนินการเปิดเวทีหารือแนวทางแก้ไขปัญหาพื้นที่โรงเรียนที่ไม่ปลอดภัย รวมถึงสิ่งที่ทำให้นักเรียนเหล่านั้นไม่พอใจ สาเหตุเกิดจากอะไร โดยจะทำเป็นวาระเร่งด่วนเพื่อพิจารณากรณีดังกล่าว โดยมีการประชุมเพื่อออกแนวทางการปฏิบัติและตรวจพื้นที่ที่มีปัญหา ส่วนกรณีที่ครูอยู่นอกระบบก็จะดึงกลับเข้ามาให้อยู่ในระบบการศึกษา อยู่ในกรอบของคณะกรรมการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีการกำหนดความต้องการเพื่อบริหารจัดการผลิตบุคลากรในการสอนจำนวนเท่าไหร่ ทำอย่างไรถึงจะมีคุณภาพ ในส่วนของรัฐยังไม่มีปัญหาเกี่ยวกับใบประกอบวิชาชีพครู
Advertisement