วันที่ 23 ธันวาคม 63 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม.แถลงภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด กรุงเทพมหานคร ว่า กทม.มีแนวทางการตรวจหาโรคเชิงรุก 3 อย่าง คือ 1.การควบคุม โดยเฉพาะแหล่งเสี่ยงที่จะมีซุปเปอร์สเปรดเดอร์ แบ่งเป็น 1. สถานบริการต่างๆ ยังคงให้เปิดบริการได้ โดยห้ามมีคนแออัด ให้เปลี่ยนลักษณะการให้บริการ ไม่ให้ผู้คนพบปะอย่างใกล้ชิด 2. ตลาด กทม.ออกประกาศให้เข้มงวดการสวมหน้ากากอนามัยและการควบคุมโรคให้รัดกุมยิ่งขึ้น และ 3. สนามมวย พบว่าทั่วกรุงเทพฯ มีการประกาศงดการชกจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ส่วนจุดที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือสวนสาธารณะ ตลาด และศาสนสถาน ห้ามไม่ให้แรงงานต่างชาติรวมตัวกัน
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า มาตรการที่ 2. คือ การค้นหาผู้ติดเชื้อ โดยเน้นตลาดเป็นหลัก ซึ่งใน กทม.มี 400 กว่าแห่ง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบด้วยวิธีแหย่จมูกแล้ว 100 แห่ง ยังไม่พบเชื้อ แต่จะเปลี่ยนวิธีการตรวจด้วยน้ำลายแทน ทำให้สามารถตรวจในราคาเท่าเดิมแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น 5 เท่า อีกแห่งคือไซต์ก่อสร้าง เคยตรวจสอบแล้วกว่า 1 หมื่นแห่งซึ่งไม่พบเชื้อ และโรงงานที่ใกล้เคียง จ.สมุทรสาคร เน้นพื้นที่บางขุนเทียน และบางบอน เข้าตรวจสอบ ซึ่งพบผู้ติดเชื้อแล้วบางส่วน
มาตรการที่ 3. การขอความร่วมมือกับประชาชนและภาครัฐกับเอกชนไม่ให้กิจกรรมปีใหม่หรืองานที่มีผู้คนรวมตัวกัน ส่วนการทำงานจะพิจารณาเป็นหน่วยงานว่าหน่วยใดสามารถทำงานที่บ้านได้ยกเว้นหน่วยบริการประชาชน เช่น การทำบัตรประชาชน ยังคงทำงานตามปกติ
สำหรับการจัดงานต่างๆ หากมีคนมากกว่า 300 คน ต้องขออนุญาตกับสำนักอนามัย กทม.หากเป็นงานที่จัดกันเองในครอบครัวสามารถกระทำได้โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดระลอก 2 จะสั่งปิดโรงเรียนในสังกัด กทม.437 แห่ง ศูนย์เด็กเล็กอีกกว่า 292 แห่ง ยืนยันไม่ใช่การล็อกดาวน์ แต่เป็นการลดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ โดยจะเริ่มนับตั้งแต่วันพรุ่งนี้(24 ธันวาคม) เป็นต้นไปจนถึงหลังปีใหม่ ภายใน 4 สัปดาห์จากนี้ หากควบคุมไม่ได้ก็จะมีการยกระดับ ยืนยันว่าการล็อกดาวน์เป็นทางเลือกสุดท้าย ขณะนี้ยังไม่อาจตัดสินได้ ต้องเฝ้าดูสถานการณ์ตามหลักวิชาการ ส่วนการเดินทางข้ามจังหวัด ในส่วนของ กทม.ยังไม่มีคำสั่งห้าม สามารถเดินทางได้
Advertisement